5 เทรนด์การตลาดออนไลน์มาแรงในยุค 2021

5 เทรนด์การตลาดออนไลน์มาแรงในยุค 2021

ทั่วโลกต่างประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยพิบัติและการแพร่ระบาดของโควิด- 19 ที่เกิดขึ้น ในแนวทางวิถีชีวิตปกติใหม่หรือ ‘New Normal’ ซึ่งเป็นการปรับตัวอย่างกะทันหันตามกันไปในทุกภาคส่วน จนกลายเป็นเทรนด์การตลาดยุค New Normal แต่ทว่าเพียงข้ามปีโควิด-19 ก็ยังคงแพร่ระบาดอย่างหนักอีกเป็นระรอกที่ 3 ทำให้การตลาดในปี 2021 ไม่เป็นไปตามที่นักวิชาการหลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ ดังนั้นเราจะไปเรียนรู้พร้อม ๆ กันว่าในปีนี้ เทรนด์การตลาดแบบไหนที่น่าจะมาแรงในยุค 2021 เพื่อจะได้หาทางไปต่อในยุคที่อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้

ประการที่ 1 เราต้องยอมรับว่า การตลาดออนไลน์มีแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดด แม้ว่ายอดขายของแบรนด์ใหญ่จะลดลง แต่กลับมีพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและพุ่งทะยานเกิดกว่าจะคาดเดา เพราะมีการเรียนรู้ช่องทางการตลาดบนแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทำให้สินค้าแบรนด์ใหญ่ ๆ ต้องปรับตัวหันมาใช้กลยุทธ์ Digital Business Model อย่างเต็มรูปแบบ เช่น การทำ Subsciption การกระตุ้นให้เกิดการสมัครสมาชิกบนเว็บไซต์หรือเพจสินค้าและบริการ และการทำ Freemium โดยเปิดให้ลูกค้าทดลองใช้บริการฟรีในระยะเวลาหนึ่ง ก่อนเสียค่าใช้จ่ายตามปกติ เป็นต้น

ประการที่ 2 เทรนด์การปรับปรุงสินค้าเพื่อเอาใจลูกค้าที่นิยมความสมดุลของผลิตภัณฑ์ที่มีทั้งคุณประโยชน์และให้คุณค่าต่อจิตใจ เหมาะกับยุคสมัย เช่น จากเดิมที่เป็นแซนด์วิชไส้กรอก หรือหมูหยองน้ำพริกเผา ก็ควรปรับแพ็กเกจจิ้งให้ดูทันสมัยมีลูกเล่นในการสแกน QRcode แล้วได้อ่านสตอรี่ของแซนด์วิชชิ้นนี้เป็นต้น อีกทั้งยังสะดวกพกพาไปรับประทานในทุกที่ทุกเวลา เพิ่มสีสันและประโยชน์ในส่วนผสม พร้อมทั้งวิเคราะห์ความพึงพอใจและความเห็นจากกลุ่มเป้าหมายสำหรับการคิดค้นเมนูเพื่อสุขภาพใหม่ ๆ มาบริการลูกค้า​ด้วย

ประการที่ 3 เทรนด์การจัดทำระบบชุดข้อมูล เพื่อติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภค และนำมาจัดทำแผนการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือช่องทางการส่งเสริมการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ด้วยเทคโนโลยีของระบบ AI ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ของผู้ให้บริการเว็บเบราว์เซอร์ทั่วโลก

ประการที่ 4 เทรนด์การวาง Service Blueprint ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งในการออกแบบบริการ แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการทำงานทั้งระบบ ตั้งแต่เริ่มให้บริการตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ โดยคำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ทั้งพนักงานและลูกค้า พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของทุกส่วนซึ่งช่วยให้เกิดความสอดคล้องและความลื่นไหลในระบบการทำงานอย่างมีมาตรฐาน

ประการที่ 5 การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคที่เราเรียกว่า Brand Democratization เช่น ในอนาคตเมื่อผู้บริโภคไม่พึงพอใจสินค้าและบริการ ก็สามารถแสดงความต้องการให้สินค้านั้น ๆ มีการปรับแก้ไขหรือพัฒนาให้ตรงตามความต้องการใช้สอยของผู้บริโภคได้ ซึ่งอาจมีตัวแปรในเรื่องของปริมาณการผลิตเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจของฝ่ายการตลาดและผู้ผลิตสินค้าแบรนด์นั้น ๆ

โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเทรนด์การตลาดออนไลน์ที่กำลังมาและนักการตลาดอาจต้องเตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้​ โดยเฉพาะในด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ ที่มีความละเอียดอ่อน แตกต่างกันไปตามเชื้อชาติเพศ​ วัย รสนิยม​ เป็นต้น